Posts Tagged พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

…..พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์…..

พระเมรุมาศ … พระเมรุมาศใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับ “การตาย” ที่ใช้ราชาศัพท์ว่า “สวรรคต”
เช่น พระมหากษัตริย์, พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า (อุปราชวังหน้า)
พระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น ภายในจะมีพระเมรุทอง ทั่วไปนิยมเป็นกุฎาคารหรือเรือนยอด พระเมรุทองใช้ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งสุดท้ายตามโบราณราชประเพณี

พระเมรุ …. พระเมรุใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์เมื่อตายใช้ราชาศัพท์ว่า ทิวงคต หรือ สิ้นพระชนม์ ในพระเมรุไม่มีพระเมรุทอง

พระเมรุพิมาน …. เป็นสมมุตินาม คือ อาคารถาวรที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งตั้งพระบรมศพ หรือพระศพ ครั้นเวลาถวายพระเพลิงอัญเชิญพระบรมศพ หรือพระศพจากพระเมรุพิมานไปถวายพระเพลิงที่พระเมร ุ(ขนาดน้อย) อีกแห่งใกล้ๆ กันหรือไม่ไกลกันมาก

พระเมรุบรรพต ….. พระเมรุซึ่งสร้างบนภูเขาสมมุติ

เมรุทิศ …. คือเมรุประจำ 4 ทิศ หรือ 8 ทิศ หรืออาจลดลงสุดแต่เหตุการณ์
เมรุประตู…. คือเมรุที่ทำเป็นประตูเข้าออก
เมรุแทรก…. คือเมรุซึ่งแทรกกลางระหว่างเมรุทิศทั้ง 4 หรือ จะแทรกตรงไหนก็ได้สุดแต่ความเหมาะสม
เมรุพระบุพโพ…. คือเมรุขนาดน้อย สำหรับถวายพระเพลิงพระบุพโพ (น้ำเหลือง) ส่วนใหญ่จะทำที่วัดมหาธาตุ
ฯลฯ

ภาพ พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ ต่อไปนี้ เป็นสถาปัตยกรรมแบบกุฎาคารหรือเรือนยอด ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมอนุรักษ์สืบทอดจากโบราณราชประเพณี และพัฒนามาเป็นลำดับตามควรแก่โอกาส และตามภาวะสังคม

ณ ปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรมแบบนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ได้มีโอกาสสืบทอด อนุรักษ์ แสดง ศิลปสถาปัตยกรรมแบบพระเมรุเป็นเอกในโลก

พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุนี้ ปัจจุบันยังเป็นโอกาสให้สถาปนิกได้มีโอกาสแสดงความคิดเนรมิตสร้างสรรค์ สืบทอด อนุรักษ์ ขนบประเพณี นับว่า สถาปนิกบรรพบุรุษท่านได้มอบสมบัติทางปัญญา (Intellectual prorerty) ไว้ให้ นับเป็นมรดกอันล้ำค่า สมควรสืบทอดต่อไปเท่าที่ภาวะของสังคมจะอำนวยให้

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ “ พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร
โดย ศาสตราจารย์ น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต

1. พระเมรุ พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ในรัชกาลที่4)
เป็นภาพถ่ายเมรุครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2405

พระเมรุ พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์

2. พระเมรุมาศ (เมรุใหญ่) ซึ่งมีพระเมรุทองอยู่ภายในพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพระเมรุมาศตามแบบโบราณราชประเพณีศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์องค์สุดท้าย ซึ่งกระบวนแห่มีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งบุษบกไตรสังเค็ด แห่เป็นคู่ ๆ รวม 40 คู่ด้วย

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

3. พระเมรุบรรพตสมโภชพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เมื่องานแล้ว สมโภชพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล แต่พระราชเพลิงในพระเมรุน้อยที่เชิงภูเขา

พระเมรุบรรพตสมโภชพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

4. งานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ. 2423

พระเมรุพระศพพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

5. พระเมรุพิมาน (พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส ซ้าย) พระเมรุมณฑป (ขวา) และพระเมรุประตู สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (องค์แรก)

พระเมรุพิมาน

6. พระเมรุพระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงษ์ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

พระเมรุพระองค์เจ้านภางค์นิพัทธพงษ์

ให้ความเห็น

พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

7. พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย (กรมพระเทพนารีรัตน์) และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
ณ ท้องสนามหลวง (วัตถุก่อสร้างที่เหลือจากงานพระเมรุเป็นต้นกำเนิดให้เกิด “โรงพยาบาลศิริราช”)

พระเมรุ 5 ยอด สมเด็จเจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย

8. พระเมรุ เจ้าฟ้านภาพรจำรัสศรี และพระองค์เจ้าสมัยวุฒิวโรดม ณ ท้องสนามหลวง

พระเมรุ เจ้าฟ้านภาพรจำรัสศรี

9. พระเมรุ พระองค์เจ้าอิสริยาภรณ์ และพระองค์เจ้าอรองค์ฯ
พระเมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ ที่วัดเทพศิรินทร์ เป็นงานแรก

พระเมรุ พระองค์เจ้าอิสริยาภรณ์

10. พระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ที่สวนมิสกวัน พ.ศ.2452

พระเมรุพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช

11. พระเมรุ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ที่สวนมิสกวัน ต่อมาเป็นเมรุเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม

(สมเด็จพระปิยมาวดีฯ) เป็นงานที่สอง

พระเมรุ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช

12. พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นแบบพระเมรุมาศแบบใหม่ ครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงดำรงพระชนม์อยู่โดยสวัสดิภาพ พระราชทานพระกระแสพระราชดำรัสสั่งถึงการพระบรมศพของพระองค์ไว้ดังนี้.-

“แต่ ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลง ก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้ว

จะนึกเดาไม่ถูกว่าโตใหญ่เพียงไร เปลืองทั้งแรงคนและเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ดูไม่สมกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืดยาวไปได้เท่าใด

ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้มีพระคุณ

หรือผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ อันควรจะได้เกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะไม่เข้าใจว่า เพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อตัวฉันเองแล้วเห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องอันใด เป็นถ้อยคำที่จะพูดได้ถนัด

จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาอันพอสมควร ณ ท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”

(เทศาภิบาล เล่ม 10 หน้า 59 และจากเรื่องงานถวายพระเพลิงศพ พระบรมศพ โดย

นายยิ้ม ปัณฑยางกูร ในหนังสือจันทรเกษม ฉบับที่ 11 เมษายน 2499)

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ให้ความเห็น

Older Posts »